พระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ 132 ไร่ ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในบริเวณวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกทำให้สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานกับทางตะวันตกมากขึ้น หมู่พระที่นั่งที่สำคัญ ดังนี้
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมชื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาทองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีการมงคลและบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ, พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท อยู่ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใช้เป็นที่ประทับทรงพระราชพาหนะ และประทับเปลื้องเครื่องในงานพระราชพิธีที่มีขบวนแห่
พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่บรรทม และทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานเครื่องอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และนอกจากนั้นยังเป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ก่อนที่จะประดิษฐานพระบรมโกศในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2419 ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะชั้นพระราชาธิบดีหรือชั้นประมุขของรัฐ นอกจากนี้ ยังมีหมู่พระที่นั่งสำคัญอื่น ๆ เช่น พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฯลฯ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-9 ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถและระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ 8 องค์ พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทนครวัดจำลอง และปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ, ศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้านขวามือก่อนถึงทางเข้าพระราชวังส่วนใน จัดแสดงเหรียญกษาปณ์และเงินตราที่ใช้ในประเทศไทยรวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักฝ่ายใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–16.00 น. ค่าเข้าชม 10 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนจัดแสดง โทรศัพท์ 0 2222 5864 ต่อ 18
ทั้งนี้ เวลาเปิดทำการพระบรมมหาราชวังเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. (ห้องจำหน่ายบัตรเข้าชม ปิดเวลา 15.30 น.) ส่วนค่าเข้าชมชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ส่วนชาวต่างชาติท่านละ 500 บาท ซึ่งรวมบัตรเข้าชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ และพระที่นั่งวิมานเมฆ (โปรดแต่งกายสุภาพ) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2623 5500 ต่อ 3100 หรือ 0 2224 3273 หรือ palaces.thai.net
วังบางขุนพรหม
วังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในบริเวณเดียวกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เขตพระนคร โดยพระตำหนักแห่งนี้นับเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดในบรรดาศิลปกรรมแบบเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างโดยใช้เงินพระคลังข้างที่ เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระราชโอรสพระองค์ที่ 33 ในพระองค์ และพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรีพระอัครราชเทวี
หลังปี พ.ศ. 2475 พระตำหนักบางขุนพรหมถูกใช้เป็นสถานที่ราชการอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2488 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาใช้เป็นสถานที่ทำการจนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 จึงได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม 14 ห้อง แบ่งเป็น 2 ชั้น ดังนี้ ชั้นหนึ่ง ได้แก่ ห้องเงินตราโบราณ ห้องพดด้วง ห้องกษาปณ์ไทย ห้องธนบัตรไทย ห้องทองตรา ห้องเงินตราต่างประเทศ ชั้นสอง ได้แก่ ห้อง 60 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย, ห้องงานพิมพ์ธนบัตร, ห้องบริพัตร, ห้องประชุมเล็ก, ห้องสีชมพู, ห้องสีน้ำเงิน, ห้องม้าสน และห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์
ทั้งนี้ เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดธนาคาร ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.30-16.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ กรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2283 5286 และ 0 2283 6723 หรือ bot.or.th
วังสวนผักกาด
เรือนไทยหลังที่ 5 ชั้นบนแสดงวัตถุโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชั้นล่างจัดแสดงเปลือกหอย หินชนิดต่าง ๆ เรือนไทยหลังที่ 6 จัดแสดงถ้วยชามสังคโลก ขวานหินโบราณ ฯลฯ เรือนไทยหลังที่ 7 เป็นพิพิธภัณฑ์โขน จัดแสดงหัวโขนต่าง ๆ และหุ่นละครเล็ก เรือนไทยหลังที่ 8 จัดแสดงวัฒนธรรมบ้านเชียง และยังมีหอเขียนซึ่งสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในมีภาพลายรดน้ำเรื่องพุทธประวัติ เรื่องรามเกียรติ์และเหตุการณ์ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนที่บริเวณชั้น 2 ของศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ จัดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง แสดงโบราณวัตถุมีอายุเก่าแก่ประมาณ 4,000 ปี เช่น ภาชนะดินเผา กำไลหิน ลูกปัดแก้วซึ่งพบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ทั้งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย คนละ 50 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท นักศึกษา 20 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 2246 1775-6, 0 2245 0568, 0 2245 6368 หรือ suanpakkad.com
พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ
พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เดิมตั้งอยู่บนเกาะสีชัง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และได้ชะลอมาไว้ ณ สถานที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2444 ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ 81 ห้อง มีคลองล้อมรอบตัวอาคาร เช่น คลองคาบแผ่นกระจก คลองรางเงิน อ่างหยก ภายในบริเวณร่มรื่นสวยงามมาก
นอกจากนั้นภายในเขตพระราชวังดุสิตยังมีสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ อีก ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2447 จุดเด่นที่สวยงามของพระที่นั่งองค์นี้ ก็คือ ลายไม้ฉลุแบบสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบันปรับแต่งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผลงานหัตถกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภายในพิพิธภัณฑ์มีงานหัตถกรรมหลากหลายให้ชม อาทิ เครื่องเงิน คร่ำ ผ้าทอ ผ้าปัก ถมเงิน ถมทอง งานประดับด้วยปีกแมลงทับ เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง เป็นที่รวบรวมรถม้าพระที่นั่งโบราณซึ่งใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 รถม้าแต่ละคัน เคยร่วมในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ มีความสง่าสวยงาม และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์, พระตำหนักสวนสี่ฤดู เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช นอกจากนี้ ภายในเขตพระราชวังดุสิตยังมีอาคารที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณ พิพิธภัณฑ์เครื่องราชูปโภค และพระสาทิสลักษณ์ พิพิธภัณฑ์ภาพพระราชพิธี
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-17.00 น. (ปิดขายบัตรเวลา 15.30 น. โปรดแต่งกายสุภาพ) อัตราค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ ผู้ใหญ่ 75 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 0 2628 6300 ต่อ 5119–5121, 0 2281 6880, 0 2281 5454, 0 2281 8166 หรือvimanmek.com
พระที่นั่งอนันตสมาคม
ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการถาวร “ศิลป์แผ่นดิน” โดยสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งวิมานเมฆ โดยพระที่นั่งอนันตสมาคมเริ่มก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่รับรองแขกเมืองและประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน ตัวอาคารเป็นอาคารหินอ่อนแบบเรอเนอซองส์ของประเทศอิตาลี และแบนนีโอคลาสสิก ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้นแปดปี
ภายในพระที่นั่งบนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโกที่สวยงามมาก เป็นภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-6 แห่งราชวงศ์จักรี จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลี และ ศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ใต้โดมกลางเป็นโดมใหญ่ที่สุดมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชดำริก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกับ “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ
พระที่นั่งอนันตสมาคมใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีรัฐพิธีต่าง ๆ และเคยใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ภายหลังจึงได้ย้ายการประชุมมายังรัฐสภาใหม่ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งนี้ โดยพระที่นั่งอนันตสมาคมเปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. (รายละเอียดผู้เข้าชมดูได้ที่artsofthekingdom.com) ค่าเข้าชม 150 บาท เด็ก 75 บาท ติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 0 2283 9411, 0 2283 9185 หรือ artsofthekingdom.com
พระราชวังพญาไท
พื้นที่บริเวณพระราชวังพญาไทแห่งนี้ในอดีตเป็นสวนทุ่งนา รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินจำนวน 100 ไร่เศษ เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืชและเป็นที่พักผ่อนพระราชอิริยาบถ ซึ่งโรงเรือนหลังแรกที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น คือ โรงนา และพระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท” พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่เคยประกอบที่ทุ่งพระเมรุมาจัดที่ทุ่งแห่งนี้แทน พระตำหนักพญาไทที่สร้างขึ้นจึงได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วังพญาไท”
ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักน้อยขึ้นที่ริมคลองพญาไท เป็นเรือนไม้สักสองชั้น พระราชทานนามว่า “พระตำหนักเมขลารูจี” และวางโครงสร้างพระราชมณเฑียรสถานสำหรับที่ประทับถาวรขึ้นใหม่ และพระราชทานนามว่า “พระราชวังพญาไท” และโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “ดุสิตธานี” เมืองจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อฝึกหัดและปูรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากพระราชวังดุสิตมายังพระราชวังพญาไทแห่งนี้ด้วย หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 กรมรถไฟหลวงได้รับพระบรมราชานุญาตให้เช่าพื้นที่และดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง นามว่า “โฮเต็ลพญาไท” จากนั้นถูกเปลี่ยนเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย ต่อมาปี 2475 กองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนนามใหม่เป็น “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไทเป็นโบราณสถานแห่งชาติ
ภายในพระราชวังพญาไทมีพระที่นั่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น พระที่นั่งพิมานจักรี เป็นอาคารอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรม ผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร. 6 สำหรับห้องชั้นล่าง เช่น ห้องเสวยร่วมกับฝ่ายใน ห้องรับแขก ห้องพักเครื่อง ฯลฯ มีจิตรกรรมสีปูนแห้งที่น่าชมเช่นกัน ส่วนที่ประทับอยู่บริเวณชั้นสอง ซึ่งมีห้องที่น่าสนใจ ดังนี้ ท้องพระโรงกลาง ห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ห้องทรงพระอักษร
พระที่นั่งไวยกูณฐเทพสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งพิมานจักรี อาคารมีลักษณะแบบโรมาเนสก์ เดิมเป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐ ฉาบปูน ได้มีการต่อเติมชั้น 3 ขึ้นภายหลัง เพื่อจัดเป็นห้องพระบรรทม สำหรับพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานเคยเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์ พิธีเปิดสถานีได้กระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เดิมมีนามว่า พระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐ ฉาบปูน มีโดมขนาดเล็ก ลักษณะอาคารเป็นแบบอิงลิช โกธิค มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานจักรีในระดับชั้น 2 ใช้เป็นที่รับรองของเจ้านายฝ่ายใน ที่ฝาผนังตอนใกล้เพดานและเพดาน มีจิตรกรรมลักษณะแบบ อาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้ และที่ห้องสำคัญเป็นภาพชายหญิงและแกะ ซึ่งเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก ฯลฯ
การเข้าชมพระราชวัง : เปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ มีวิทยากรนำชม ในเวลา 09.30 น. และ 13.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม กรณีมีหนังสือขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ ผู้ขออนุญาตเข้าชมจะต้องรับผิดชอบค่าวิทยากรนำชม ท่านละ 500 บาท (วิทยากร 1 คน นำผู้เข้าชมได้ 25-30 คน ) ทั้งนี้ วันจันทร์-วันศุกร์ จะต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าชม (โปรดแต่งกายสุภาพ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 2354 7987 หรือ phyathaipalace.org
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่อาคารอนุรักษ์กรมโยธาธิการ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร ตึกหลังนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6-7 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 สถาบันพระปกเกล้าฯ ได้บูรณะเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 7 หาดูได้ยาก รวมทั้งจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7 องค์ปฐมกษัตริย์ระบบประชาธิปไตยของไทย นับเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์แห่งแรกที่สมบูรณ์แบบ นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการอธิบายและนำชม
ภายในจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การสืบราชสันตติวงศ์ พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชกรณียกิจ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การพระราชทานรัฐธรรมนูญ เครื่องราชภัณฑ์ และพระราชนิยมส่วนพระองค์ รวมทั้งพระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ และเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีศาลาเฉลิมกรุงจำลอง จัดฉายภาพยนตร์เก่าให้ชม
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน (เว้นวันจันทร์ วันปีใหม่ และวันสงกรานต์) ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. ค่าเข้าชม 20 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท วันหยุดราชการไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดโทรศัพท์ 0 2280 3413–14, 0 2280 3445–46 หรือ kingprajadhipokmuseum.org