ภูเขาโปปา หรือเรียกว่า มหาคีรีนัต มีความสูงประมาณ 1,518 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟ แต่ปัจจุบันได้ดับไปแล้ว (ปะทุครั้งสุดท้ายเกือบ 2,500 ปี มาแล้ว) อยู่ห่างจากเมืองพุกามราว 50 กิโลเมตร ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เขาโปปา (Mount Popa) ชื่อนี้มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตแปลว่าดอกจำปา เนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้ เคยมีต้นจำปาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก หรือเรียกอีกชื่อว่า “ภูเขาดอกจำปา”
ภูเขาโปปา (Mount Popa) ที่สถิตของ มหาคีรีนัต แห่งพุกาม
ภูมิทัศน์โดยรอบภูเขาไฟโปปา เต็มไปด้วยบ่อน้ำพุและลำธารเล็กๆ ราว 200 แห่ง ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวพม่าเชื่อกันว่าภูเขาลูกนี้เป็นภูเขา ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสถานที่สิงสถิตของบรรดาเทวดาและนัตทั้งหลาย “นัต” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 2 ตนสิงสถิตอยู่ (นัตมีทั้งหมด 37 ตน)
เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตจึงถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง โดยพระองค์ได้ทำการตั้งศาลนัตหลวงขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่ามหาคีรีนัต มีทั้งหมด 37 องค์
โดยองค์สำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือนัตสักรา หรือพระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น บุคคลที่จะได้รับการรับถือเป็นนัตนั้น ต้องมาจากสาเหตุการตายที่ไม่ใช่การตายธรรมดา กล่าวโดยง่ายคือ ตายโหง เพราะเชื่อว่าจะมีฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่วๆ ไป กษัตริย์ในอดีตของพม่าจะต้องจัดงานเคารพบูชาผีนัตเป็นประจำทุกปี โดยชาวพม่าเชื่อว่าภูเขาแห่งนี้เป็นเสมือนบ้านของผีนัต มีการเฉลิมฉลองเพื่อความเคารพต่อผีนัตในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน
นักแสวงบุญจำนวนมากจะพากันเดินทางขึ้นไปบนภูเขาโปปาเพื่อไปสักการ บูชาบรรดานัตทั้งหลายในช่วงคืนพระจันทร์เต็มดวง คือ ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน และช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม
ภูเขาไฟโปปา และวัดตวงคาลัต สามารถมองเห็นได้แต่ไกล แม้จะยืนอยู่บริเวณแม่น้ำอิรวดีที่อยู่ห่างออกไป 60 กม.ก็ยังสามารถเห็นได้ ด้วยรูปพรรณสัณฐานตามธรรมชาติที่สะดุดตา
นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวต้องขึ้นบันได 777 ขั้น เพื่อไปยังวัดตวงคาลัตซึ่งอยู่บนยอดสุด โดยตลอดทางเต็มไปด้วยฝูงลิงกัง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่น ที่กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว และเมื่อขึ้นไปถึงวัดจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล มองเห็นเมืองพุกามได้ทั้งเมือง
วัดพระมหามัยมุนี
ภายในประดิษฐานพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของประเทศพม่า สร้างขึ้นด้วยทองคำขนาดใหญ่สูง 7 ฟุต 4 นิ้ว สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 689 ชาวพม่าเชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีชีวิตจริงจึงได้มีพิธีล้างพระพักตร์ทุกวันเวลา 03.45 น. โดยน้ำทานาคาที่ใช้ล้างพระพักตร์นั้นจะทำการแจกจ่ายให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธีในแต่ละวันนำกลับไปบูชาที่บ้านด้วย
มัณฑะเลย์ฮิลล์
ภูเขาศักดิ์สิทธิ์กลางใจเมืองที่ชาวพม่าเชื่อกันว่าครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ ภูเขาแห่งนี้ ในบริเวณมัณฑะเลย์มีรูปปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะอยู่หลายแห่งตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไป เช่น วิหารบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในบริเวณทางขึ้นเขา พระพุทธรูป “ชเวยัตดอร์” หรือพระพุทธรูปปางพยากรณ์ปิดทองขนาดใหญ่สององค์ ในบริเวณช่วงกลางเขาเกือบถึงยอดเขา และรูปปั้นยักขินี นางยักษ์ที่ตัดทรวงอกถวายพระพุทธเจ้าเพื่อขอเกิดมาเป็นชายจะได้บวชในพระพุทธศาสนาในชาติหน้า และบริเวณยอดเขามีพระวิหาร “ซูตองพญา” ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสี่ทิศ อันได้แก่ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสป และพระสมณโคดม ในบริเวณยอดเขาแห่งนี้ยังเป็นจุดชมวิวสวยงามชั้นเยี่ยม ทั้งนี้ได้มีการก่อสร้างบันได 7292 ขั้นสำหรับการเดินขึ้นไปด้านบนของภูเขาให้สะดวกยิ่งขึ้น
พระตำหนักไม้สักชเวนาดอร์หรือวัดชเวนันดอร์
แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังมัณฑะเลย์ สร้างขึ้นในของสมัยพระเจ้ามินดงด้วยไม้สักทองชั้นดี แกะสลักศิลปะช่างมัณฑะเลย์แบบเก่าที่มีเอกลักษณ์หลังคาทรงปราสาท 5 ชั้น พร้อมปิดทองสุกสว่างทั้งหลัง แต่ต่อมาได้ถูกยกให้เป็นสำนักสงฆ์ แม้ว่าสีเหลืองอร่ามของทองคำจะจืดจางลงไปตามกาลเวลา แต่ภายในตัววัดด้านในก็ยังปรากฏสีทองสุกสว่างให้ได้ชม นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ยังถือเป็นพระราชวังเก่าของพม่าที่มีลักษณะสมบูรณ์สวยงามที่สุดอีกด้วย
พระราชวังมัณฑะเลย์
พระราชวังไม้สักที่เคยขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุดในเอเชีย แต่พระราชวังเดิมนั้นถูกไฟเผาไหม้จนเหลือแต่ฐานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวพระราชวังในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิม โดยได้มีการสร้างให้เหมือนของเดิมมากที่สุด และมีการจำลองรูปปั้นของกษัตริย์พม่าและพระมเหสีในอดีตในเครื่องทรงกษัตริย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นที่ติติงกันว่าพระราชวังจำลองที่สร้างขึ้นมาแทนที่ของเดิมนั้นขาดรายละเอียดทางศิลปะพม่าดั้งเดิมมากมาย แม้จะมีความใหญ่โตโอ่อ่าไม่แพ้ของเดิม แต่ด้อยในเรื่องความวิจิตรงดงามแบบพระราชวังเดิมในอดีต