ภูเขาโปปา หรือเรียกว่า มหาคีรีนัต มีความสูงประมาณ 1,518 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟ แต่ปัจจุบันได้ดับไปแล้ว (ปะทุครั้งสุดท้ายเกือบ 2,500 ปี มาแล้ว) อยู่ห่างจากเมืองพุกามราว 50 กิโลเมตร ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เขาโปปา (Mount Popa) ชื่อนี้มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตแปลว่าดอกจำปา เนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้ เคยมีต้นจำปาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก หรือเรียกอีกชื่อว่า “ภูเขาดอกจำปา”
ภูเขาโปปา (Mount Popa) ที่สถิตของ มหาคีรีนัต แห่งพุกาม
ภูมิทัศน์โดยรอบภูเขาไฟโปปา เต็มไปด้วยบ่อน้ำพุและลำธารเล็กๆ ราว 200 แห่ง ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวพม่าเชื่อกันว่าภูเขาลูกนี้เป็นภูเขา ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสถานที่สิงสถิตของบรรดาเทวดาและนัตทั้งหลาย “นัต” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 2 ตนสิงสถิตอยู่ (นัตมีทั้งหมด 37 ตน)
เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตจึงถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง โดยพระองค์ได้ทำการตั้งศาลนัตหลวงขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่ามหาคีรีนัต มีทั้งหมด 37 องค์
โดยองค์สำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือนัตสักรา หรือพระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น บุคคลที่จะได้รับการรับถือเป็นนัตนั้น ต้องมาจากสาเหตุการตายที่ไม่ใช่การตายธรรมดา กล่าวโดยง่ายคือ ตายโหง เพราะเชื่อว่าจะมีฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่วๆ ไป กษัตริย์ในอดีตของพม่าจะต้องจัดงานเคารพบูชาผีนัตเป็นประจำทุกปี โดยชาวพม่าเชื่อว่าภูเขาแห่งนี้เป็นเสมือนบ้านของผีนัต มีการเฉลิมฉลองเพื่อความเคารพต่อผีนัตในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน
นักแสวงบุญจำนวนมากจะพากันเดินทางขึ้นไปบนภูเขาโปปาเพื่อไปสักการ บูชาบรรดานัตทั้งหลายในช่วงคืนพระจันทร์เต็มดวง คือ ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน และช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม
ภูเขาไฟโปปา และวัดตวงคาลัต สามารถมองเห็นได้แต่ไกล แม้จะยืนอยู่บริเวณแม่น้ำอิรวดีที่อยู่ห่างออกไป 60 กม.ก็ยังสามารถเห็นได้ ด้วยรูปพรรณสัณฐานตามธรรมชาติที่สะดุดตา
นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวต้องขึ้นบันได 777 ขั้น เพื่อไปยังวัดตวงคาลัตซึ่งอยู่บนยอดสุด โดยตลอดทางเต็มไปด้วยฝูงลิงกัง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำท้องถิ่น ที่กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว และเมื่อขึ้นไปถึงวัดจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล มองเห็นเมืองพุกามได้ทั้งเมือง